ตอน : ขายของไม่ได้ทำยังไงดี

  • เมษายน 16, 2024
  • nip
  • 1 min read

         เวลาไปต่างจังหวัดเจอแม่ค้าตั้งราคาขายของ บางทีก็ทำเอาตกอกตกใจ ไม่ใช่ตกใจราคาแพงเกินคาดนะ แต่มันมักจะถูกเหลือเชื่อ แบบว่า ป๊าดดดด ขายของแบบนี้ พี่อยู่ได้ยังไง ได้กำไรจริงหรือเปล่า เอาเวลาและแรงงานที่เสียไป เอาหยาดเหงื่อแรงงานไปทำสินค้าออกมาแต่ไม่ได้มีเงินเหลือมาตกถึงท้องเลย

        ที่เจอเนี่ยขนมเปี๊ยะก้อนเบ้อเริ่ม ขาย 15 บาท ถามว่าพี่ใช้ต้นทุนกี่บาท

ตอบกลับมาแทบเป็นลม ค่าวัตถุดิบ 10 บาทครับผม ได้กำไร 5 บาท พี่คิดค่าซอง ถุง ค่าน้ำไฟ ค่าแรงงานปั้นขนมไปยัง

เอ่ออ ผมว่าได้กำไรแล้ว น้ำไฟเราก็ใช้ในบ้านด้วย ค่าถุงอีกแค่เล็กน้อย ส่วนค่าแรงก็มาจากกำไรไงค้าบบบ 

พี่ค้าบบบบ ขายงี้วันละ 100 ก้อน ทำกันสองคนผัวเมีย พี่เพลียกันมั้ย ได้กำไรวันละไม่ถึง 500 บาท นี่กำไรหรือค่าแรง ถ้าวันไหนพี่ๆ ทำไม่ไหว จ้างแรงงานมาทำแทน จะพอหรือเปล่า

…… (สตั๊นไปพักนึง แล้วก็เดินหายไปกับสายลม แสงแดด)

สินค้าที่พี่ๆ ทำมาขาย ทั้งขายในร้านของตัวเอง ขายตามงาน OTOP ตามตลาดนัด หรือไม่ก็ทำของแล้วขายส่งให้คนอื่นไปทำตลาด หรือเอาไปตั้งราคาต่อได้เอง บางทีก็อยากจะบอกพี่ๆ ว่า ถ้าพี่ๆ ไปหาราคาในเน็ตอีกสักหน่อยนึง พี่จะพบว่า ของที่พี่ขายอยู่เนี่ย อร่อย หรือคุณภาพดีกว่าที่มีขายกันดิบดี ดีกรีแบรนด์ดังเสียอีก

แต่คราวนี้ เราจะยังไม่พูดถึงเรื่องราคาสินค้ากันเนาะ เพราะต่อให้กำไรมากน้อยแค่ไหน แต่ยังขายได้เนี่ย ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปวดหัวมากเท่ากับขายไม่ได้  

มาเข้าเรื่องกัน โจทย์วันนี้คือ มีของขายแหละ มีลูกค้าอยู่บ้าง แต่มันไม่พอ เลยอยากเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลอง

ที่จะชวนคุยเนี่ย จะชวนคิดไปด้วย เพื่อให้พี่ๆ มองเห็นโอกาสใหม่ๆ หรือมีไอเดียไปต่อยอดได้กันนะคะ

ลองกลับมาคิดถึงสินค้าของเดิมของเราก่อนสักหน่อย (ใครทำได้เองลอง swot ตัวเองใหม่ในยุคนี้ แม้จะเป็นเรื่องเดิมๆ แต่เชื่อเถอะว่ามันไม่เหมือนเดิม เพราะความคิด มุมมอง หรือแม้แต่ช่องทางมันแตกต่างไปจากยุคไหนๆ ที่เราผ่านมา)

มาเริ่มกันด้วย การขายสินค้าใหม่ ให้ลูกค้ากลุ่มเดิม VS การขายสินค้าเดิม แต่เพิ่มลูกค้าใหม่

พูดเนี่ยเหมือนง่าย แต่เวลาทำจริงๆ เรารู้ว่ามันไม่ง่ายเลย มาดูกันก่อนว่าแบบแรกการขายสินค้าเดิม ให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ ต้องคิดเรื่องอะไรกันบ้าง

เรื่องแรก คิดถึงลูกค้ากลุ่มเดิมกันก่อน ว่าเค้าเป็นใคร และ !!ทำไมถึงมาซื้อสินค้าของเรา!! 

เราขอยกตัวอย่างสินค้าที่ไม่ต้องสนใจเรื่องแบรนด์ก็ได้ เช่น การขายข้าวสาร บางคนชอบข้าวแข็ง บางคนชอบข้าวใหม่ บางคนชอบข้าวขาว บางคนกินได้ทุกข้าว ถ้าเราขายข้าวสาร สิ่งแรกที่เราควรรู้ คือ เราขายข้าวสารอะไร มันแตกต่างยังไง ใครเป็นคนกินข้าวสารนี้

ชาวนาอ่างทองที่เราเคยเจอ ขายข้าวสาร กข. 43 ให้กับร้านค้าคนกลางเป็นกระสอบตลอดมา ถ้าต้องขายสินค้าให้กับลูกค้ากลุ่มเดิม ชาวนาอาจจะปลูกข้าวชนิดอื่นๆ หรือแพ็คข้าวเป็นถุงขนาดใหม่มาให้ร้านค้า หรือหาผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ มาขายให้ร้านค้าคนกลาง เพื่อให้ร้านค้าในฐานะลูกค้าของชาวนาได้สินค้าใหม่  โดยที่ชาวนา “พูดจาภาษาเดิม ไม่ต้องปรับการขาย ไม่ต้องหาลูกค้าใหม่” 

ถ้าวันนึง ชาวนาขายข้าวสาร กข. 43 บรรจุแบบเพ็คสุญญากาศ ขนาด 200 กรัม พี่ๆ คิดว่า ชาวนาจะขายข้าวให้ใครได้บ้าง? หรือถ้าชาวนา เอาข้าวใส่กล่อง ขายให้ใครได้บ้าง (รูปประกอบไม่ใช่ของชาวนาที่อ่างทองนะคะ)

คนจะแต่งงาน

ออแกไนเซอร์งานแต่ง

คนชอบทำบุญ ตักบาตร

คนอยากให้ของขวัญแนวสุขภาพ

บริษัทซื้อไปแจกลูกค้าตอนปีใหม่
ลูกน้องซื้อของขวัญไปสวัสดีเจ้านาย

ไปเยี่ยมคนป่วย

มาถึงตรงนี้ นึกออกหรือยังคะว่าจะเลือกหาหรือทำของใหม่ ไปขายคนเดิม หรือจะขายของเดิมให้คนใหม่ๆ

เขียนซะยาวเชียว ยังไม่จบอีก คราวหน้ามาต่อกันอีกว่า นอกจากจะคิดถึงลูกค้าแล้ว จะคิดอะไรต่อเพื่อหาของใหม่หรือลูกค้าใหม่

-นิธิ-

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *